TOA เดินหน้าปลูกป่า 740 ไร่ จ.เลย และ จ.อุดรธานี เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน

TOA เดินหน้าปลูกป่า 740 ไร่ จ.เลย และ จ.อุดรธานี เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน

บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ฯ เดินหน้าโครงการ ‘รักเรา รักษ์โลก’ ปลูกป่า 2 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว 740 ไร่ ในจังหวัดเลย และจังหวัดอุดรธานี ตามแนวทาง ESG  เพื่อยกระดับสู่การเป็นองค์กร Net Zero ภายในปี 2050 โดยร่วมกับ สำนักจัดการทรัพยากร   ป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) กรมป่าไม้ พันธมิตรทางธุรกิจในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่น พนักงานและประชาชนจิตอาสารวมกว่า 160 คน มาร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเขาแก้ว และป่าดงปากชม อ.ปากชม จ.เลย รวมทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่านายูง และป่าน้ำโสม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี

ดร.ภาณุพงศ์ ภูทะวัง ผู้จัดการอาวุโสหน่วยงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ฯ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ “TOA รักเรา รักษ์โลก ฟื้นคืนผืนป่าและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน” เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG Sustainability) ในมิติสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายให้เป็นแหล่งอาหาร ปอดแห่งใหม่ และเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกับคนในชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนคืนต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมตามพันธกิจหลักของบริษัทฯ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในบริษัทฯ ทั้งการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการใช้รถไฟฟ้า พัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และพัฒนานวัตกรรมสีเขียวเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนกำลังเผชิญปัญหาในปัจจุบัน รวมทั้งบรรลุเป้าหมายระยะสั้นของบริษัทฯ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากกว่าร้อยละ 20 จากฐานปี พ.ศ. 2564 ปี พ.ศ. 2568 และเป้าหมายระยะยาวเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero Emissions 2050 (พ.ศ. 2593)

พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกป่าให้ได้จำนวน 2 ล้านต้น ภายในปี พ.ศ. 2577 เพื่อให้บริษัทฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม สร้างระบบนิเวศให้ยั่งยืน รวมทั้งสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่และคนในชุมชนโดยรอบในมีความอุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น” ดร.ภาณุพงศ์ กล่าว