กลุ่ม KTIS เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนรายได้สายธุรกิจชีวภาพ มั่นใจบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย 100% เติบโตตามเทรนด์โลก
กลุ่ม KTIS มั่นใจธุรกิจในสายชีวภาพ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย 100% มีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะอยู่ในกระแสหลักของโลก ทั้งในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล และเอทานอล ซึ่งอยู่ในสายธุรกิจชีวภาพ ลดการก่อก๊าซเรือนกระจก ก็เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ตามแนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green) ที่เน้นการเพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชี้อนาคตสัดส่วนรายได้สายธุรกิจชีวภาพจะเพิ่มขึ้น ช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมได้ยากอย่างราคาน้ำตาลโลก
นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ใช้แนวคิด BCG Model เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยวัตถุดิบตั้งต้นในห่วงโซ่การผลิตเป็นไบโอ (B) คืออ้อย และนำมาต่อยอดในสายธุรกิจชีวภาพ โดยใช้ผลพลอยได้ทุกส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกากอ้อย (ชานอ้อย) กากน้ำตาล (โมลาส) หรือแม้กระทั่งใบอ้อย จนแทบจะไม่มีความสูญเสียระหว่างทาง หรือที่เรียกว่า Zero Waste
“การหีบอ้อยได้น้ำอ้อยไปทำน้ำตาลทราย ส่วนชานอ้อยก็นำไปทำเยื่อกระดาษชานอ้อย รวมถึงต่อยอดไปเป็นภาชนะและบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยและหลอดชานอ้อย 100% ส่วนชานอ้อยอีกส่วนหนึ่งยังนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่วนโมลาสหรือกากน้ำตาล ก็นำไปผลิตเอทานอล ซึ่งการลงทุนในสายธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่องครบวงจรนี้ ก็คือตัว C หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามโมเดล BCG นั่นเอง” นายสมชายกล่าว
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า ในด้านของเศรษฐกิจสีเขียว หรือ G นั้น ทางกลุ่ม KTIS ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม KTIS เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ก่อก๊าซเรือนกระจก เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เยื่อกระดาษจากชานอ้อย หรือไบโอเอทานอล ทำให้บริษัทในกลุ่ม KTIS ได้รับการรับรองด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น iso14001 และยังรวมไปถึงการได้รับการรับรองทั้งกระบวนการใน supply chain ตั้งแต่ในไร่อ้อย เช่น มาตรฐาน Bonsucro และ VIVE program ซึ่งยืนยันในเรื่องการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน
นายสมชายกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุมนั้น มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก โดยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้คลอรีนในการฟอกสีเยื่อกระดาษ ทำให้ได้เยื่อกระดาษชานอ้อยบริสุทธิ์ 100% ปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหารไม่ว่าจะร้อนจัด หรือเย็นจัด ก็สามารถใช้ได้ อีกทั้งก่อนที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค ยังได้ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV อีกด้วย
“บรรจุภัณฑ์ชานอ้อยของกลุ่ม KTIS นั้น ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น สามารถใส่น้ำโดยไม่รั่วซึม สามารถนำเข้าเตาอบและเตาไมโครเวฟได้ ไม่มีสารปนเปื้อนก่อมะเร็ง ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ภายใน 45 วัน โดยได้รับใบรับรองมาตรฐานระดับโลกด้านการย่อยสลายของผลิตภัณฑ์ (Products made of compostable materials for industrial composting Clamshell and Plate) และอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยบริษัทผู้ตรวจสอบชั้นนำของประเทศไทย ในการรับรองระบบมาตรฐานโรงงานด้านความปลอดภัยของอาหาร ด้านการผลิต Food Packaging เช่น FSSC 22000, ISO 22000, GHPs/HACCP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น” นายสมชายกล่าว
ทั้งนี้ จากศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจในสายชีวภาพ จะทำให้มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจน้ำตาลทราย และจะช่วยทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความผันผวนน้อยลง เนื่องจากรายได้และกำไรของสายธุรกิจน้ำตาลนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับปริมาณอ้อยที่ผลิตได้ในแต่ละปีแล้ว ยังอิงกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก