“ธนาคารไทยเครดิต” แต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายหุ้น IPO เปิดจองซื้อรายย่อย 23 - 26 ม.ค.นี้
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (“ธนาคารฯ” หรือ “ธนาคารไทยเครดิต”) พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง ร่วมกับนายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ถ่ายภาพในพิธีลงนามในสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จํากัด บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Lead Underwriters)
พร้อมแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 6 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จํากัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ พาย จํากัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จํากัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ จำกัด และตัวแทนจำหน่ายหุ้น 1 ราย คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมในครั้งนี้ จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น นับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขายหุ้น IPO ในรอบ 10 ปี สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด
สำหรับช่วงราคาที่นำมาใช้ทำการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Bookbuilding) อยู่ที่ระหว่าง 28.00 – 29.00 บาทต่อหุ้น ด้วยมูลค่าการเสนอขาย 9,716,815,416 – 10,063,844,538 บาท ทั้งนี้ ธนาคารฯ ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchasers) จะพิจารณาร่วมกันในการกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) โดยพิจารณาจากราคาและจำนวนหุ้นที่นักลงทุนสถาบันเสนอความต้องการซื้อเข้ามา
กำหนดเปิดจองซื้อสำหรับนักลงทุนรายย่อย ระหว่างวันที่ 23 – 26 มกราคม 2567 และเตรียมเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2567 และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดธุรกิจ (Sector) กลุ่มธุรกิจการเงิน / ธนาคาร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “CREDIT”
สำหรับช่วงราคาเสนอขายระหว่าง 28.00 – 29.00 บาทต่อหุ้น พิจารณามูลค่าตามบัญชีของธนาคารฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 16,807.2 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดจำนวน 1,229,289,222 หุ้น ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดจำนวน 64,705,890 หุ้น) จะได้มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Per Share) เท่ากับ 13.7 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Book Ratio หรือ “P/B”) ประมาณ 2.05 – 2.12 เท่า เปรียบเทียบอัตราส่วน P/B ของธนาคารพาณิชย์เทียบเคียงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 8 ธนาคาร ที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน และบริษัทที่ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 3 บริษัท เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินราคาหุ้นที่เสนอขาย
อย่างไรก็ดี ธนาคารไทยเครดิต มีความมั่นคงจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์และสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอีที่เป็นเอกลักษณ์ ปล่อยสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ มีอัตรากำไรสุทธิที่ยั่งยืน และมีความได้เปรียบในการทำกำไร เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่น อีกทั้ง มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน