รายย่อย NUSA ร้อง “ปอศ.” สอบ 5 ธุรกรรม-เชื่อเสียหาย 7 ร้อยล้าน

รายย่อย NUSA ร้อง “ปอศ.” สอบ 5 ธุรกรรม-เชื่อเสียหาย 7 ร้อยล้าน

ผู้ถือหุ้นรายย่อย NUSA ร้อง “ปอศ.” ตรวจสอบ 5 ธุรกรรมของบริษัท ที่เชื่อว่าทำผู้ถือหุ้นเสียหายแล้วอย่างน้อย 700 ล้านบาท โดยเฉพาะการเข้าซื้อโรงแรมในเยอรมนี ที่จ่ายเงินไปแล้ว 711 ล้านบาท มีตัวตนจริงหรือไม่ 

นายเสรี หัตถะรัชต์ ผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รวมกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยรวม 30 คน เข้าร้องทุกข์ต่อผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ให้ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทฯ และกรรมการที่เกี่ยวข้อง หลังจากได้รวบรวมข้อมูลทางการเงิน จนเชื่อว่าผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้รับความเสียหายแล้วอย่างน้อย 700 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 5 ธุรกรรมของ NUSA ดังนี้

  1. โครงการรับซื้อคืนอสังหาริมทรัพย์จากนักลงทุน เริ่มลงทุนปี 2558 สัญญาให้ผลตอบแทนปีละ 6.5% และบริษัทฯ จะรับซื้อคืนตั้งแต่ปีที่ 6 หรือปี 2564 แต่จนถึงปัจจุบันมีผู้ลงทุนหลายราย ไม่ได้รับผลตอบแทน และไม่ได้รับซื้อคืนตามที่สัญญาไว้ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนนักลงทุนที่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่สัญญาไว้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าโครงการนี้จะทำให้มีรายได้เพิ่ม 2,000 ล้านบาท จะทำให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่ม และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ แต่ปรากฎว่าบริษัทฯ กลับขาดทุนต่อเนื่องนาน 8 ปี และไม่เคยจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเลย ในช่วงเวลาดังกล่าว

  1. NUSA เข้าซื้อบริษัท พานาซี เมดิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ PNCT ต่อมาพบว่า บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งโดยผู้บริหารระดับสูงของ NUSA เอง หลังก่อตั้งได้โอนหุ้นไปยังบุคคลอื่นอีกหลายทอด ก่อนที่ NUSA จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นในท้ายที่สุด ในมูลค่ารวม 720 ล้านบาท
  2. NUSA เข้าซื้อกิจการโรงแรมในประเทศเยอรมนี โดยจ่ายเงินมัดจำไป 711 ล้านบาท หรือเกือบเต็มจำนวนของเงินซื้อขาย 740 ล้านบาท แต่พบว่าผู้รับเงินกลับเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ขายโดยตรง

ธุรกรรมนี้ยิ่งทวีความน่าสงสัยมากขึ้น เพราะต่อมาฝ่ายบริหารยกเลิกการซื้อโรงแรม และเปลี่ยนเป็นเข้าซื้อบริษัท พานาซี แฟร์วาลทุงส์ จีเอ็มบีเฮช จำกัด หรือ PNCV ที่เป็นบริษัทเจ้าของโรงแรมทั้งที่บริษัทแห่งนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินถึง 407 ล้านบาท ปัจจุบันโรงแรมดังกล่าวยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะยังไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ทำให้ NUSA ขาดรายได้จากเงินลงทุน และยังต้องแบกรับภาระหนี้สินของ PNCV ด้วย

  1. วันที่ 7 ธ.ค.2566 คณะกรรมการ NUSA เห็นชอบแผนจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทฯ 6 รายการ มูลค่ารวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 70% ของมูลค่าทรัพย์สินรวม จนถูกกลุ่มกรรมการที่คัดค้านแผนดังกล่าว ฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง ให้มีคำสั่งยกเลิกมติดังกล่าว เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.6055/2566 
  2. ในปี 2564 NUSA ขายหุ้นบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ให้กับบริษัท จีโอบีเอ บอร์ด จำกัด โดยมีนายอุดม หวัง เป็นผู้ลงนามฝ่ายผู้ซื้อ ซึ่งนายอุดม หวัง ปรากฎชื่อในสื่อว่าเป็นกรรมการในบริษัทอื่นที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจสอบ คดีคนต่างด้าวสวมสิทธิ์สัญชาติไทย

นายเสรี กล่าวต่อไปว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ขอให้บก.ปอศ. ตรวจสอบว่า เงินที่บริษัทฯ ได้รับจากโครงการรับซื้อคืนอสังหาริมทรัพย์ ถูกนำไปใช้เป็นเงินมัดจำในธุรกรรมเข้าซื้อบริษัท และโรงแรมในประเทศเยอรมนีแล้วหรือไม่ และขอให้ตรวจสอบว่าธุรกรรมนี้มีตัวตนจริงหรือไม่

“หากผลการตรวจสอบพบว่า ธุรกรรมที่ประเทศเยอรมนีไม่มี จริง ทางกลุ่มจะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชน และยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มาตรา 354  และข้อหาฟอกเงินตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 60 ต่อไป ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ร้องเรียนต่อดีเสไอมาแล้ว ขอฝากถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโปรดเข้ามาตรวจสอบโดยเร็วก่อนที่จะเกิดความเสียหายร้ายแรง กระทบผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีมากเกือบ 1 หมื่นคน ”