ไม่ไหวจะเคลียร์ งานเข้าอีกดอก “วิษณุ – ศิริญา เทพเจริญ” ศาลรับฟ้องขายทรัพย์สิน NUSA ให้บริษัทน้องสาว ซ้ำ 29 ก.พ.นี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่อฟันพ้นกรรมการ

ไม่ไหวจะเคลียร์ งานเข้าอีกดอก “วิษณุ – ศิริญา เทพเจริญ” ศาลรับฟ้องขายทรัพย์สิน NUSA ให้บริษัทน้องสาว ซ้ำ 29 ก.พ.นี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่อฟันพ้นกรรมการ

“วิษณุ - ศิริญา เทพเจริญ” งานเข้าไม่พัก ศาลรับฟ้องคดีอาญา 3 กรรมการ NUSA ละเมิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 2535 เหตุนำโครงการบ้านจัดสรรบริษัทฯ ขายยกแปลงให้กับบริษัท ที่มีน้องสาวของ “ศิริญา” นั่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ โดยไม่แจ้งบริษัทฯ ซ้ำ 29 ก.พ.นี้ ยังถูกที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเสนอถอดถอนพ้นตำแหน่งกรรมการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ของ 3 ผู้บริหารและกรรมการบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ได้แก่ 1.นายวิษณุ เทพเจริญ 2.นายสมพิจิตร ชัยชนะจารักษ์ และ 3.นางศิริญา เทพเจริญ ยังน่าเป็นห่วง เพราะนอกจากจะถูกที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น NUSA วันที่ 29 ก.พ.นี้ เสนอปลดออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ แล้ว ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลอาญารับฟ้องคดีอาญา ฐานความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เป็นคดีดำหมายเลข อ.590/2567 โดยมีบริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ถือหุ้น NUSA เป็นโจทก์ฟ้องผู้บริหารและกรรมการทั้ง 3 รายเป็นจำเลย

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระบุว่า บริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ได้ยื่นฟ้องต่อนายวิษณุ นายสมพิจิตร และนางศิริญา ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ จากการนำโครงการบ้านกฤษณา-พระราม 5 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ NUSA ไปขายให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีน้องสาวต่างบิดาของนางศิริญานั่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ ในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน โดยได้รับชำระเงินการขายเข้ามาเพียง 50% แต่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อจนแล้วเสร็จไปทำประโยชน์ก่อน โดยไม่ได้รายงานรายละเอียดในการทำธุรกรรมครั้งนี้ให้บริษัทฯ ทราบให้ครบถ้วน ทั้งที่เป็นการทำรายการเกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ

ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เรียกให้ชี้แจงประเด็นดังกล่าว ซึ่ง NUSA ได้ทำหนังสือที่ลงนามโดยนายวิษณุ ชี้แจงกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 30 พ.ย.2566 ยอมรับว่าบริษัทฯ ได้ทำธุรกรรมดังกล่าว ทำให้เข้าข่ายรายการเกี่ยวโยงกัน โดยไม่ได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบให้ถูกต้องตามขั้นตอน และราคาขายอาจไม่สมเหตุสมผล ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบจึงมีมติไม่อนุมัติธุรกรรมดังกล่าว นอกเหนือจากที่จดหมายระบุ ยังปรากฎว่าคณะกรรมการตรวจสอบยังมีมติให้ฝ่ายบริหารไปซื้อทรัพย์สินคืนกลับมา แต่ปรากฎว่าจนถึงปัจจุบันกรรมการทั้ง 3 ราย ยังไม่ได้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาแต่อย่างใด