CMO สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนด้วยโครงสร้างยุคใหม่องค์กร ปี67 เน้นกิจกรรมกำไรทำ Turn Around

CMO สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนด้วยโครงสร้างยุคใหม่องค์กร ปี67 เน้นกิจกรรมกำไรทำ Turn Around

“ซีเอ็มโอ” (CMO) แจงมาตรการในการรักษาระดับของกระแสเงินสดสำหรับการจ่ายชำระหนี้สินและใช้ในการดำเนินงาน พร้อมยันเหตุผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมปี 66 เนื่องจาก Going Concern ไม่ใช่ถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร ด้าน  “ผู้บริหาร” เร่งปรับโครงสร้างภายในวางกลยุทธ์การทำงาน ลุ้นปีนี้เทิร์นอะราวด์ 

น.ส.นันทิยา โสวะภาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ผู้ดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์บริหารจัดการงานอีเวนต์ นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ งานประชุมสัมมนา คอนเสิร์ต และเฟสติวัล เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้นำส่งงบการเงินสำหรับปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็น ด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Going Concern) ของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร 

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 กลุ่มบริษัทฯ มีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวม จำนวน 239 ล้านบาท และ 203 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ หนี้สินหมุนเวียนดังกล่าว ได้รวมหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี จำนวน 30 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้บริษัทฯ ได้มีมาตรการในการรักษาระดับของกระแสเงินสดสำหรับการจ่ายชำระหนี้สินและใช้ในการดำเนินงานไว้อยู่แล้ว โดยบริษัทฯ ได้มีการเพิ่มทุนและได้รับเงินจากการเพิ่มทุนมูลค่ารวม 101.65 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้รับชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนทั้งจำนวนแล้ว  ขอให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นได้ว่า บริษัทฯ มีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้พร้อมดอกเบี้ยกู้ตามกำหนดได้แน่นอน และยังสามารถใช้หมุนเวียนในกิจการเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต ขับเคลื่อนบริษัทฯ ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

“สำหรับหนี้สินหมุนเวียน ที่ระบุอีกข้อที่หมายถึงหุ้นกู้แปลงสภาพพร้อมดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวนเงิน 63 ล้านบาท ตามข้อพิพาทที่ผู้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพได้ยื่นคำร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ประเทศสิงคโปร์ โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 สถาบันอนุญาโตตุลาการได้มีคำตัดสินให้บริษัทฯ ต้องจ่ายชำระคืนเงินหุ้นกู้ทั้งจำนวนแก่ผู้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ ปัจจุบันผลของคดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากผู้ลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพยังไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการในศาลไทยตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่ายบริหารพิจารณาแล้วมีความเชื่อมั่นว่าผลของคดีฟ้องร้องดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดภายในปี 2567 และคดีความขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมในอนาคต ซึ่งยังมีระเวลาในการพิจารณาคดีกันอีกนาน” น.ส.นันทิยา กล่าว 

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารจำนวน 24 ล้านบาท ที่ต้องจัดประเภทเป็นหนี้สินหมุนเวียน  ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้จึงส่งผลให้เงินกู้ยืมระยะยาวดังกล่าวเป็นหนี้สินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับหนังสือผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนทางการเงินของเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารแล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีผลย้อนหลังสำหรับงบการเงินงวดปี 2566 จึงถือได้ว่าเงินกู้ยืมระยะยาวดังกล่าวไม่ใช่หนี้สินที่ต้องจัดประเภทเป็นหนี้สินหมุนเวียน ณ ปัจจุบัน

สำหรับผลประกอบการงวดปี 2566 มีรายได้รวม 1,276.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.28 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,188.70 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 156.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 26.59 ล้านบาท  จะเห็นว่าบริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปกติแล้วในไตรมาส 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจอีเวนต์ ผู้ประกอบการภาคเอกชนเร่งทำกิจกรรมการตลาดกระตุ้นการขายส่งท้ายปี บวกกับในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับเมกะโปรเจ็กต์ อาทิ งาน GUNDAM docks at THAILAND, Siam Square Countdown, งานเปิด POP MART Thailand เป็นต้น  แต่ขณะเดียวกันต้นทุนก็สูงขึ้นด้วย เนื่องจากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น และการขยายงานในส่วนต่างๆ  ทำให้บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งเรื่องเงินเดือน, เรื่องการปรับโครงสร้างทางการเงิน ตลอดจนเครดิตเทอมของลูกค้าที่ค่อนข้างนาน แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างภายในวางกลยุทธ์การทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะทำให้การดำเนินงานรัดกุม และมีโอกาสกลับมาเติบโตตามเป้า  โดยคาดหวังปีนี้พลิกกลับมามีกำไร” ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน กล่าวทิ้งท้าย