TIA จัดหนัก! ผนึก สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าจัด Class Action สัญจร 9 จังหวัด ปั้นทนายความอาชีพเข้าสู่ตลาดทุน

TIA จัดหนัก! ผนึก สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าจัด Class Action สัญจร 9 จังหวัด ปั้นทนายความอาชีพเข้าสู่ตลาดทุน

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA)  เปิดแผนงานปี 2567  ร่วมมือกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์  ปูพรมจัด Class Action สัญจร  9 จังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF ) ชวนทนายความอาชีพทั่วไทยร่วมอบรมเชิงลึก หลักการ เหตุผลและเงื่อนไขของการดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ เชิญผู้พิพากษาศาลสูง ให้ความรู้เชิงทฤษฎีในช่วงเช้า ช่วงบ่ายมีการสอบวัดผล พร้อมรับวุฒิบัตร ดันเต็มกำลังสร้างทนายความอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน หวังผลการบังคับใช้กฎหมาย Class Action มีประสิทธิภาพเป็นเครื่องมือป้องกันให้นักลงทุน ประเดิมเชียงใหม่จังหวัดแรก!! นายอาชีพ 121 คนร่วมอบรม

คุณยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย(TIA) องค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล “ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ที่อยู่คู่ตลาดทุนไทยมากว่า 35 ปี เปิดเผยว่า การเดินหน้าให้ความรู้เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ยังคงเป็นภารกิจหลักของสมาคมในปีนี้ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action” เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีเครื่องมือในการปกป้องนักลงทุนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการลงทุน  อย่างไรก็ตามในปีนี้ทางสมาคมวางแผนที่จะจัด Class Action สัญจรใน 9 จังหวัด

คุณสิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมฯ กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดสัญจร 9 จังหวัด โดยกิจกรรมเริ่มที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรก ส่วนจังหวัดที่เหลือประกอบด้วย จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี  จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเชียงราย กาญจนบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ

“Class Action สัญจรในปีนี้พุ่งตรงที่ทนายความอาชีพที่จะเข้ามาร่วมอบรมและเป็นการอบรมให้ความรู้เชิงลึก หลักการ เหตุผล และเงื่อนไข ของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) การดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ เพราะหากเราดูจากผลการวิจัยของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าปัจจัยเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มต้นคดีความของ “ทนายความ”  ที่จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลอันเป็นสารตั้งต้นของการเดินทางตามกระบวนการยุติธรรมนั้น ยังอาจต้องเติมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเยียวยาผู้เสียหาย” นายกสมาคมกล่าว

คุณสิริพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัญจรและอบรมครั้งแรกที่เชียงใหม่ช่วงเช้าทนายอาชีพที่เข้าอบรม หัวข้อ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคดีกลุ่ม” บรรยายโดย ท่านพงษ์เดช วานิชกิตติกูล รองประธานศาลอุธรณ์ และช่วงบ่ายเรื่อง “การดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีหลักทรัพย์” ที่บรรยายโดย ท่านชลวัชร อัศวพิริยอนันต์ รองเลขานุการศาลฏีกา ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนตรงจากท่านผู้พิพากษาศาลสูง

ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นการสอบวัดผลประมวลความรู้ ประเมินกระบวนการวิชาชีพ พร้อมมอบวุฒิบัตรให้กับผู้เข้าอบรม เพื่อจะเป็นการยืนยันว่า ตลาดทุนไทยจะมีทนายความอาชีพที่มีความรู้ด้านคดีตลาดทุนเพิ่มเข้ามาและหวังผลให้การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดีแบบกลุ่มของไทยมีประสิทธิภาพ

“ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญในการเพิ่มเติมความรู้ให้กับทนายความ ด้านตลาดทุนไทย และการเสริมประสบการณ์ ในการทำคดีแบบฟ้องกลุ่มผ่านการเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์  เพื่อเป็นการเสริมทักษะในงานวิชาชีพที่เป็นคดีเฉพาะทาง และปีที่ผ่านมา TIA ร่วมกับ สภาทนายความฯ ในการร่วมกันให้ความรู้ตามหลักสูตรทั้งสองระดับคือขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้า จนวันนี้เรามีผู้สำเร็จตามความเข้มข้นของหลักสูตร จำนวน 81 คน” เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 08 ธันวาคม 2558 มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือว่าคืบหน้าไปมากแล้วและจะเห็นศูนย์ดังกล่าวเกิดขึ้นในตลาดทุนไทยแน่นอน

ด้าน ท่านพงษ์เดช วานิชกิตติกูล รองประธานศาลอุธรณ์ได้บรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคดีกลุ่มกับทนายอาชีพที่เข้าร่วมอบรมว่าบทบาทของกฎหมาย ClassAction จะมีความสำคัญมากขึ้นในยุคนี้ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งประเทศไทยเรามีกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้นการที่ TIA จัดโครงการอบรมถือเป็นเรื่องที่ดีมากอย่างไรก็ตามคดีที่จะเข้าลักษณะการดำเนินคดีแบบกลุ่ม คือ สิทธิผู้บริโภค ,หลักทรัพย์และการแข่งขันทางการค้า,สิ่งแวดล้อม , คดีละเมิดที่มีผู้เสียหายจำนวนมากและสิทธิพลเมือง เป็นต้น ขณะที่กลุ่มบุคคลที่จะเข้าลักษณะการดำเนินคดีแบบกลุ่ม คือบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปไม่จำกัดจำนวนสูงสุด สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยต้องเหมือนกันอาศัยข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันความเสียหายของแต่ละคนไม่เหมือนและไม่เท่ากันได้

“นับตั้งแต่เริ่มที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มขอแนะนำให้ทำรายละเอียดทั้งหมดของกลุ่มบุคคลที่เข้ามา และทำรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำคดีทั้งหมด เพราะเมื่อถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มประเด็นเหล่านี้ก็ต้องพร้อมที่จะเปิดเพื่อการพิจารณา เพราะตามกฎหมายนั้นผลตอบแทนของคดีที่จะได้รับ 30% ของมูลฟ้องนั้นทนายความจะต้องถูกนำมาพิจารณาทั้งหมด”