TSE ลั่น! พร้อมลุยโครงการ Direct PPA เดินหน้าธุรกิจ Private PPA – M&A – โรงไฟฟ้าขยะ – Healthcare ดันรายได้พุ่งกระฉูด สร้างสังคมเติบโตยั่งยืน
บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) มั่นใจมีคุณสมบัติพร้อมยื่นประมูลโครงการนำร่อง Direct PPA ควบคู่กับงานจัดหาพลังงานหมุนเวียนรอบ 2, 3 เดินหน้าธุรกิจ Private PPA ทั้งกลยุทธ์ M&A โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นโรงไฟฟ้า หนุนนโยบายพลังงาน สีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่าบริษัทฯ พร้อมเดินหน้าเข้าร่วมประมูลงาน โครงการการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA) ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้สรุปแผนจัดโครงการนำร่อง Direct PPA ขนาดไม่เกิน 2,000 MW เพื่อกระตุ้นธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดย TSE มีความพร้อมทุกด้านสำหรับโครงการ Direct PPA มีคุณสมบัติตรงกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์เบื้องต้นของบริษัทที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ล่าสุดบริษัทฯ อยู่ระหว่างติดตามรายละเอียดโครงการดังกล่าวอีกครั้ง ทั้งในเรื่องเกณฑ์, ขนาดโครงการ, แผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวว่าจะเป็นล็อตใหม่ หรือจากโครงการไฟฟ้าสีเขียวเดิม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 MW หรืออาจใช้ทั้ง 2 รูปแบบร่วมกัน รวมถึงค่าบริการต่างๆ ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. น่าจะเริ่มเห็นราคาที่กำหนดไว้จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ภายในปี 2567 และเริ่มเปิดประมูลโครงการในต้นปี 2568
ปัจจุบัน TSE มีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 41 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 241.86 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 34 โครงการ และโครงการที่ยังไม่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 7 โครงการ และหากบริษัทฯ ได้งานในส่วน Direct PPA เพิ่ม จะสนับสนุน Portfolio ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเสริมรายได้ตั้งแต่ปี 2568 ให้กับบริษัทฯ นอกเหนือจากเดิมที่วางแผนจะเข้าร่วมการประมูล กกพ. รอบ 2 และ 3 ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะได้งานประมูลมากกว่า 100 เมกะวัตต์ หลังจากชนะประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบที่ 1 เป็นจำนวน 88.66 เมกะวัตต์เสนอขาย, การขยายการลงทุนหรือร่วมลงทุนโซลาร์ฟาร์ม, การเข้าซื้อกิจการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (M&A), การขยายธุรกิจไปขายไฟฟ้าในภาคเอกชน (Private PPA) หรือข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และแบบติดตั้งบนผืนน้ำ (Solar Floating) ของผู้ประกอบการธุรกิจแบบครบวงจร, โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste to Energy) และธุรกิจด้านสุขภาพ
“TSE พร้อมเข้าประมูลงาน Direct PPA และงาน Private PPA รวมถึงเรายังเดินกลยุทธ์การทำ M&A โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งกำลังการผลิต ประกอบกับแผนจับมือกับพันธมิตรในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในประเทศไทย และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ เพื่อร่วมสร้างพลังงานไฟฟ้าสีเขียวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืน” ดร.แคทลีน กล่าวในที่สุด
วันที่ 11 กรกฎาคม 2567