CHAYO งบ Q2/67 แจ่ม รายได้โต 35% งวดครึ่งปีแรกโกย 972.33 ล้านบาท พุ่ง 38% พร้อมลุยซื้อหนี้เติมพอร์ต 1-1.5 หมื่นล้านบาท หนุนรายได้โตตามเป้า 20%

CHAYO งบ Q2/67 แจ่ม รายได้โต 35% งวดครึ่งปีแรกโกย 972.33 ล้านบาท พุ่ง 38% พร้อมลุยซื้อหนี้เติมพอร์ต 1-1.5 หมื่นล้านบาท หนุนรายได้โตตามเป้า 20%

CHAYO ประกาศงบไตรมาส 2 และงวดครึ่งปีแรก 2567 รายได้ออกมาสวย โต 35.45% และ 38.33% ตามลำดับ จาก 2 ธุรกิจ รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพและดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น หนุนปิดยอดกำไรไตรมาส 105.61 ล้านบาท และครึ่งปีแรก 148.06 ล้านบาท เตรียมเงินลงทุน 1,000-1,500 ล้านบาท เดินหน้าซื้อหนี้เติมพอร์ตตามฤดูกาลไฮซีซั่นในครึ่งปีหลังอีก 10,000-15,000 ล้านบาท ตามแผนงานดันเป้ารายได้ปีนี้โต 20%

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานบริษัทฯ ไตรมาส 2/2567 มีรายได้รวม 479.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 353.76 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ 2 ประเภทคือ ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวน 118.43 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44.80% และจากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นจำนวน 11.80 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44.80%

ขณะที่รายได้จากการบริการเร่งรัดหนี้สินลดลง 31.25% เพราะมีการมอบหมายพนักงานให้ติดตามทวงถามหนี้เสียที่กลุ่มบริษัทซื้อมากขึ้น ทำให้รายได้การติดตามทวงถามหนี้ของผู้ว่าจ้างภายนอกลดลง เช่นเดียวกับรายได้จากการให้บริการจัดหาคนที่ยังเป็นช่วงพัฒนาเพราะเป็นธุรกิจใหม่เพิ่งเริ่มเพียง 1 ปี

ด้านกำไรสุทธิไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 105.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  2.76% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ 102.78 ล้านบาท เพราะสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นดีได้ต่อเนื่อง โดยมีกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขายจำนวน 19.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.61% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 11.41 ล้านบาท

ขณะที่ผลประกอบการงวดครึ่งปีแรก 2567 มีรายได้ 972.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 702.89 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจากดอกเบี้ยยอดจัดเก็บหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและยอดขายหลักประกันของหนี้ด้อยคุณภาพ จำนวน 307.65 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 56.45% จากงวดเดียวกันปีก่อน อีกทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อ จำนวน 75.37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57.96% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสิ้น 30 มิถุนายน 2567 มียอดลูกหนี้เงินให้กู้ยืมอยู่ที่ 1,049.75 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 690.13 ล้านบาท ส่วนรายได้การให้บริการจัดหาคนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่รายได้จากการบริการเร่งรัดหนี้สินลดลง 26.35%  เพราะให้พนักงานติดตามทวงถามหนี้เสียที่กลุ่มบริษัทซื้อมากขึ้น ส่งผลให้รายได้การติดตามทวงถามหนี้ของผู้ว่าจ้างภายนอก

สำหรับกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2567 อยู่ที่ 148.06 ล้านบาท ลดลง  33.02%  จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 221.06 ล้านบาท เพราะมีการตั้งขาดทุนด้านเครดิตจำนวน 422.87 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อนที่ 255.87 ล้านบาท ตามการขยายพอร์ตหนี้ไม่มีหลักประกันที่ซื้อเข้ามาเพิ่มในปี 2566 ประกอบกับมีการปรับประมาณการบางพอร์ตในอดีต 128.46 ล้านบาท โดยถือเป็นการตั้งขาดทุนที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 796.83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81.95% ของรายได้ซึ่งยังถือเป็นระดับที่ดีและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 83.71%

นายสุขสันต์  กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2567 โตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนที่ทำได้ 1,527 ล้านบาท จากแผนเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL&NPA) มาบริหารอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าซื้อหนี้เสียเพิ่มอีก 10,000-15,000 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุน 1,000-1,500 ล้านบาท จากปี 2566 สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ ได้ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มแล้วประมาณ 2,350 ล้านบาท  โดยใช้เงินลงทุนไปแล้วประมาณ 170 ล้านบาท  และคาดว่าการซื้อขายหนี้จะมีความคึกคักมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3–4 ของปีนี้ตามฤดูกาลไฮซีซั่นของธุรกิจ

“โดยปกติในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นโลว์ซีซั่นของการซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหาร แต่อย่างไรก็ตามในครึ่งปีแรกนี้บริษัทซื้อหนี้เสียมาบริหารแล้วประมาณ 2,350 ล้านบาท โดยกลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทยังคงเน้นการเข้าร่วมประมูลซื้อหนี้เสียมาบริหารอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นไปในเรื่องของราคาที่มีความเหมาะสมและไม่แพงเกินไป เพราะไม่อยากให้กลุ่มลูกหนี้มีภาระทางการเงินเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือในอีกรูปแบบหนึ่ง” นายสุขสันต์ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะมีหนี้เสียออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 แต่ประเมินว่าจะมีจำนวนหนี้ด้อยคุณภาพที่เปิดประมูลใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับมากกว่า 400,000 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจไม่ดีนัก โดยบริษัทจะพิจารณาปัจจัย รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่บริษัทสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไป