ถือหุ้นกู้ ACAP เตรียมยื่น บก.ปอศ. ค้านแผนฟื้นฟูกิจการส่อไม่โปร่งใส

ถือหุ้นกู้ ACAP เตรียมยื่น บก.ปอศ. ค้านแผนฟื้นฟูกิจการส่อไม่โปร่งใส

นักลงทุนหุ้นกู้ ACAP เตรียมรวมตัวยื่นร้อง บก.ปอศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คัดค้านการฟื้นฟูกิจการ ACAP ต่อศาลล้มละลายกลาง พบแผนฟื้นฟูกิจการส่อไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์พวกพ้องและบริษัทในเครือ เอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย มูลหนี้พร้อมดอกเบี้ยพุ่งกว่า 4,000 ล้านบาท

นักลงทุนรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ACAP) ได้รวมตัวกันจัดประชุมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP ที่มีความไม่ชอบมาพากล หลังบริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ACAP ได้เข้ามาซื้อหนี้หุ้นกู้กับผู้ถือหุ้นกู้บางส่วน และตั้ง ACAP เป็นผู้ทำแผนและเตรียมยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 18 กันยายน 2567 นี้ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนรายย่อยเสียประโยชน์จากการไม่ได้รับคืนหนี้ ซึ่งมีมูลค่ารวมดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันกว่า 4,000 ล้านบาท

นครินทร์ วงแหวน ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นกู้ ACAP กล่าวว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ยื่นคำร้องคัดค้านการฟื้นฟูกิจการของ ACAP ต่อศาลล้มละลายกลาง กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากลหลายจุด และอาจทำให้นักลงทุนรายย่อยเสียประโยชน์ ดังนี้

  • การชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับเจ้าหนี้กลุ่ม 2 คือเจ้าหนี้หุ้นกู้ จะถูกชำระภายใน 8 ปี ขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ซึ่งผลสำเร็จของแผนไม่ได้อยู่ที่การชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ครบทุกราย แต่อยู่ที่การทำให้สถานะของบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ไม่สามารถการันตีได้ว่าเจ้าหนี้จะได้หนี้คืนจนครบ
  • กรณีผิดนัดชำระหนี้ บริษัทฯสามารถแก้ไขเหตุผิดนัดได้ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุผิดนัดและให้ถือว่าบริษัทมิได้ผิดนัด
  • นอกจากนี้ ยังมีการโอนสิทธิการเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็น Community Mall อ่อนนุช ให้กับบริษัท โอเค แคส จำกัด ซึ่งเป็นในเครือ และพวกพ้อง ทั้งที่ควรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ควรจะอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อนำรายได้มาเฉลี่ยชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้
  • กรณี ACAP ยังให้บริษัทลูก แคปปิตอล โอเค และพวก ไปซื้อหนี้จากเจ้าหนี้หุ้นกู้และรายย่อยที่ถือหุ้นกู้ ราคา 40% ของเงินต้นที่ลงทุน ไม่รวมดอกเบี้ย และนำไปขอรับชำระหนี้จากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เต็มมูลหนี้ 100% พร้อมดอกเบี้ย ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เสียเปรียบ เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย

“การกระทำดังกล่าว เป็นการ ถ่ายเท กระทำการ โอนย้ายทรัพย์สินของ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ ไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่เป็นหนี้ผู้ถือหุ้นกู้อยู่ และกรรมการหรือผู้บริหารบริษัท อาจเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง ความซื่อสัตย์สุจริต และทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ทนายความระบุ

ACAP เป็นอีกหนึ่งคดีที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อย หลังพบพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของผู้บริหารในช่วงระหว่างปี 2561 – 2562 ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร พร้อมพวกรวม 6 รายในกรณีทุจริต สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รวม 7 รุ่น รวมเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คิดมูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท

ทนายนครินทร์ กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริหาร ACAP ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีความไม่โปร่งใส มีพฤติกรรมอำพราง และเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย มีเจตนาไม่สุจริตในการแก้ปัญหาหนี้ และซื้อหนี้ เอื้อผลประโยชน์ ให้กับพวกพ้องและบริษัทในเครือ ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์ รวมทั้งผู้บริหารยังกระทำความผิดกฎหมายมหาชนในการเอาเปรียบและฉ้อฉลกับนักลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นเราไม่สามารถยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการที่ทาง ACAP ทำขึ้นได้ และจะยื่นคัดค้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบ ก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อเสนอแผนฟื้นฟูในวันที่ 18 กันยายน 2567 นี้