JCK ยิ้มร่าหลังยูนิไมครอนและเฉิงยี่ผู้ผลิต JCB ยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาซื้อที่ดินสร้างโรงงานในนิคม TFD เตรียมเปิดเฟสใหม่หลังเฟส 2 ขายเกลี้ยง
JCK ได้
นายอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการ บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ JCK เปิดเผยว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเลคโทรนิคส์(PCB) ระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ บริษัท ยูนิไมครอน(ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มบริษัท เฉิงยี่ อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ได้เข้ามาลงทุนซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม TFD รวมกว่า 300 ไร่เพื่อก่อสร้างโรงงานที่จะย้ายฐานการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิคส์มายังประเทศไทย ซึ่งนอกจากทั้งสองบริษัทนี้แล้วคาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายอื่นที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ก็จะก่อให้เกิดเงินลงทุนไหลเข้าลงทุนในประเทศไทยอีกจำนวนมาก เฉพาะ 2 บริษัทดังกล่าวคาดว่าจะนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศรวมกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นที่เข้ามาซื้อที่ดินในนิคมเป็นผลให้บริษัทสามารถปิดการขายนิคมอุตสาหกรรมTFD 2 ได้
“ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเป้าหมายของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบของการกีดกันการค้า แม้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษี ด้านการลงทุนอาจไม่จูงใจ สู้เวียดนามไม่ได้ แต่มีบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตรกับผู้ลงทุนต่างประเทศ มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีและเพียงพอที่จะรองรับนักลงทุน ทำให้มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจของ JCK” นายอภิชัยกล่าว
JCK มีรายได้หลักจากการขายที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม TFD ปัจจุบันบริษัทได้เตรียมพื้นที่เพื่อขยายนิคมเฟสต่อไปอีกประมาณ 1,300 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบและสามารถขายที่ดินส่วนขยายได้ประมาณไตรมาสแรกของปี 2567 โดยจะสามารถรับรู้รายได้จากการขายที่ดินได้เลย ทั้งนี้ บริษัทได้ประมาณการว่าจะขายที่ดินได้หมดภายใน 2 ปี นอกจากนี้ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบริษัทยังมีรายได้เสริมจากการให้บริการระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะจากการขายน้ำอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมผ่านบริษัทย่อย “เจซีเค ยูทิลิตี้” เพื่อให้บริการกับลูกค้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มผู้ผลิต PCB ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรมในการผลิตปริมาณที่สูง บริษัทตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 จะมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสร้างรายได้ให้ปีละ 120 ล้านบาท โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นทุกปี คาดว่าภายในปี 2572 จะมีรายได้จากค่าน้ำอุตสาหกรรมประมาณปีละ 400 ล้านบาท และยังมีรายได้จากค่าบริการระบบบำบัดน้ำเสียอีกส่วนหนึ่งด้วย
นายอภิชัยเปิดเผยต่อไปว่า ประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้ บริษัทจะขายทรัพย์สินบางส่วนประเภทโรงงานให้เช่าให้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล หรือกอง TIREIT มูลค่าประมาณ 1,300 ล้านบาทเศษ ก็จะทำให้ผลประกอบการปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว “ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 2,840 ล้านบาท มีกำไร 582 ล้านบาท และในปี 2567 ในช่วง 6 เดือนแรกบริษัทมีรายได้รวม 1,900 ล้านบาท และมีกำไร 451 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลประกอบการในปี 2567 นี้เป็นที่น่าพอใจและน่าจะดีกว่าปี 2566” นายอภิชัยกล่าวสรุป