SCGP เผยเคล็ดลับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ “ปั้นแบรนด์ให้วิ่ง แพคเกจจิ้งต้องจึ้ง”

SCGP เผยเคล็ดลับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ “ปั้นแบรนด์ให้วิ่ง แพคเกจจิ้งต้องจึ้ง”

งานสัมมนา “ปั้นแบรนด์ให้วิ่ง แพคเกจจิ้งต้องจึ้ง” จัดโดย บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิยุทธสาร ณ นคร ได้สะท้อนถึงความสำคัญของไอเดียสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างแบรนด์สินค้า

ผ่านคำบอกเล่าให้วิทยากรที่ร่วมสัมมนา เผยให้เห็นถึงเทรนด์และเคล็ดลับการสร้างแบรนด์ผ่านการออกแบบ โดยบรรจุภัณฑ์ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนแบรนด์เพื่อสร้างการจดจำให้กับลูกค้า การจะทำเช่นนั้นได้จะต้องรู้ความต้องการเชิงลึกของลูกค้า (Customer Insight) บรรจุภัณฑ์ยังต้องเป็นไปได้ทางธุรกิจ ขณะที่เทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์มาแรงในขณะนี้ คือบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Packaging)

บรรจุภัณฑ์ต้องเป็น “รักแรกพบ” และ “ไม่รู้ลืม”

ปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  Co-Founder & Head of Strategies HEAD100 Co., Ltd. ในฐานะอนุกรรมการกลุ่มบริหารการตลาด สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า แบรนด์คือทุกจุดสัมผัส (Touch Point) ที่ผู้บริโภคมองเห็น เป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดย “บรรจุภัณฑ์” ถือเป็นจุดสัมผัสสำคัญ หากออกแบบบรรจุภัณฑ์ดี จะลดเงินลงทุนสร้างแบรนด์ ลดค่าโฆษณาลงได้ ทั้งนี้เคล็ดลับการปั้นแบรนด์ให้วิ่ง บรรจุภัณฑ์จะต้องเป็น “รักแรกพบ” สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เช่น การเปิดใช้งานที่สะดวก ประหยัดการใช้วัสดุ การมีบาร์โค้ดไว้ที่บรรจุภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ เป็นต้น

“เหมือนเราเจอใครสักคน สิ่งแรกที่เราเห็นคือ เสื้อ ผ้า หน้า ผม ต้องประทับใจจากภายนอกก่อน จึงจะเข้าไปสื่อสาร เห็นตัวตนภายใน ซึ่งบรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่นั้น”

นอกจากนี้อีกเคล็ดลับสำคัญ คือ “ไม่รู้ลืม” บรรจุภัณฑ์ไม่เพียงการออกแบบสวยงาม แต่ต้องบอกเล่าเรื่องราวที่โดนใจลูกค้า ผ่านการสร้างเอกลักษณ์-จุดขาย การสร้างประโยชน์-แก้ปัญหา (Pain Point) ให้กับลูกค้า และสุดท้ายคือการสร้างรายได้ให้กับแบรนด์

บางแบรนด์ไม่ต้องเห็นโลโก้ เห็นแค่หน้าตาบรรจุภัณฑ์ ก็รู้เลยว่าคือแบรนด์นี้ จากเอกลักษณ์ของรูปทรงบรรจุภัณฑ์ ความโดดเด่นของโทนสีที่ใช้ แพคเกจจิ้งจึงเป็นเหมือนโรงละคร เป็นพื้นที่ของการเล่าเรื่องแบรนด์ เพื่อปิดจ็อบการตลาดให้ได้”

บรรจุภัณฑ์ที่ดี : ถูกใจลูกค้า สอดคล้องเมกะเทรนด์

คุณวรรณา สวัสดิกูล, CEO ของ SilverActif Co., Ltd. และอนุกรรมการ MMG-TMA ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์สำคัญในระดับโลกที่กำลังจะมีผลกระทบต่อธุรกิจ ในยุคปัจจุบัน โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ความต้องการของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาท ทั้งจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ความตระหนักเรื่องความยั่งยืน (sustainability) และการเติบโตของสังคมสูงวัย (aging society) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น "เมกะเทรนด์" ที่นักการตลาดและนักธุรกิจต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

“ความสำคัญของการปรับตัวและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังต้องสอดคล้องกับแนวโน้มใหญ่ ๆ ของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวสำหรับผู้บริโภคผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นและแตกต่าง”

บรรจุภัณฑ์ในยุคปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่ใช้ห่อหุ้มสินค้า แต่ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้บริโภค การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดและสามารถเล่าเรื่องราวของแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จในตลาดที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน

บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เทรนด์แรง ตอบโจทย์โลก

สุเมธ บุณยธนพันธ์ Manager – Inspired Studio and Packaging Solutions, SCGP กล่าวในมุมมองผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ถึง 4 เทรนด์ด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มาแรง ได้แก่ 1. บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน  2. การออกแบบเฉพาะเจาะจง สร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ 3. นวัตกรรมวัสดุและบรรจุภัณฑ์ และ 4. สมาร์ทแพคเกจจิ้ง

“เทรนด์บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน พูดกันมานาน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือดีกรีที่เพิ่มขึ้น ความยั่งยืนหมายถึงการลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้วัสดุ และเพิ่มสัดส่วนของการรีไซเคิล จากแรงกดดันด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้แต่ละประเทศตื่นตัว ออกกฎหมายและมาตรการบังคับทั้งการผลิตและขายสินค้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายรวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่สินค้าใช้ ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวตามกติกาการค้าที่เปลี่ยนไป”

สุเมธ ยังกล่าวถึงความท้าทายในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนว่า  บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนต้องใช้งานได้จริง และต้องสวยงาม ขณะเดียวกันต้องเป็นไปได้ทางธุรกิจ การผลิตและการตลาด ต้องตอบโจทย์เจ้าของแบรนด์และผู้บริโภค

บรรจุภัณฑ์ : สินทรัพย์ความยั่งยืนแบรนด์

ด้าน กฤตวิทย์ เลาหธนาพร Executive Director, M. Water Co., Ltd. บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มแบรนด์สปริงเคิล เล่าว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องบอกเล่าเรื่องราวและตัวตนของแบรนด์เพื่อเข้าถึงใจผู้บริโภค บรรจุภัณฑ์จึงถือเป็นสินทรัพย์ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์นั้น ๆ

โดยสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ “ต้องทำได้จริง” หมายถึงขวดสปริงเคิลต้องลดขยะได้จริง และตัวขวดต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้จริง 100% ไม่ได้ทำเพื่อสื่อสารทางการตลาด หรือประชาสัมพันธ์ และ “ไม่อ่อนข้อให้กับข้อจำกัด” พยายามแก้ไขอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

“กรณีของสปริงเคิล เราต้องการออกแบบขวดน้ำ Lableless (ไร้ฉลาก) เพื่อลดขยะพลาสติก และสามารถรีไซเคิลได้ 100% แต่สิ่งที่ท้าทายจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องการออกแบบให้สวยงาม แต่เป็นการแสดงข้อความบนบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เราพัฒนาเทคนิคการยิง inkjet ลงบนผิวขวด เพื่อให้ข้อความสามารถอ่านได้ชัดเจน และหมึก inkjet ที่เราใช้ก็สามารถล้างออกได้ในกระบวนการรีไซเคิลตามปกติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ประนีประนอมต่อข้อจำกัดของเราในฐานะผู้ผลิตสินค้า เพื่อร่วมลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม” กฤตวิทย์ กล่าว

ทั้งหมดนี้คือความสำคัญของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ แรงส่งสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่เจ้าของแบรนด์ต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สื่อสารอารมณ์ความรู้สึกให้โดนใจลูกค้า ขณะเดียวกันยังต้องเป็นไปได้ในการผลิต ขนส่ง และการตลาด