FSMART อิ่มใจพอร์ตสินเชื่อโตแรง ดันงบ 9 เดือน กำไรพุ่งกว่า 40% รายได้รวม 1,679 ล้านบาท กำสินเชื่อคงค้างแตะพันล้าน ปั้นผลงานสวยปิดจ๊อบปีนี้
FSMART โชว์วงเงินสินเชื่อคงค้าง 9 เดือนอยู่ที่ 904.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180.2%YoY ส่งผลงานแจ่มรายได้รวม 1,679 ล้านบาท กำไรสุทธิ เพิ่ม 40.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน หลังปล่อยสินเชื่อองค์กรขนาดใหญ่เห็นผล มั่นใจสิ้นปีสินเชื่อคงค้างถึง 1,000 ล้านบาทตามแผน ส่วนธุรกิจหลักยอดเติมเงิน E-Wallet และเติมเงินซื้อแพ็คอินเตอร์เน็ตเพิ่ม พร้อมปรับตัวตามพฤติกรรมลูกค้าหนุนรายได้ต่อเนื่อง เตรียมปิดจ๊อบปีนี้เติบโตตามเป้าหมาย
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร “บุญเติม” และเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “GINKA Charge Point” ภายใต้วิสัยทัศน์ “นวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 บริษัทมีรายได้รวม 577.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% จากไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 13.7% จากไตรมาสเดียวกันปี 2566 ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 115.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% จากไตรมาสก่อน และ 66.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2567 ของบริษัทมีรายได้รวม 1,679.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% และกำไรสุทธิ 309.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
โดยการเติบโตของรายได้และกำไร สาเหตุหลักมาจากกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร ที่บริษัทให้สินเชื่อกับบุคลากรกว่า 100,000 รายของกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน ทั้งสินเชื่อเงินสดและสินเชื่อสำหรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ โดยสิ้นไตรมาส 3/2567 มียอดการให้วงเงินสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 904.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มี NPL 3.13% ลดลงจากไตรมาส 2/2567 จากการบริหารการจัดเก็บโดยการผูกบัญชีจ่ายชำระ
เช่นเดียวกับ ธุรกิจหลักกลุ่มธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติ บริษัทสามารถรักษารายได้ในกลุ่มธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติไว้ได้อย่างดี มีมูลค่าการทำรายการผ่านตู้บุญเติมรวม 8,247 ล้านบาทยอดการใช้บริการเติมเงิน E-Wallet และเติมเงินซื้อแพ็คอินเตอร์เน็ตเติบโตเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนมาใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ตเพิ่ม บริษัทจึงเตรียมบริการใหม่ ๆ ที่ตอบรับพฤติกรรมของลูกค้า เพิ่มความคุ้มค่าในการใช้บริการได้มากขึ้น อาทิ แพ็คเกจส่วนบุคคล การเติมเงิน E-Wallet และเติมเงินซื้อแพ็คอินเตอร์เน็ต รวมทั้งขยายบริการทางการเงินรองรับการใช้บริการของกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย
สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2567 บริษัทมุ่งมั่นสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายฐานกลุ่มธุรกิจการเงินและสินเชื่อครบวงจรกับกลุ่มลูกค้าอื่น นอกหนือจากกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านราย โดยเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อจากเดิมที่ตั้งไว้ 500-800 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาท ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระสินค้า (BNPL) บนพื้นฐานความระมัดระวังและบริหารความเสี่ยง ด้วยการลงทะเบียนผูกหักบัญชีจ่ายชำระค่างวดทุกเดือน พร้อมทีมติดตามหนี้เพื่อบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพให้ NPL น้อยกว่า 5% ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้การดำเนินงานโดยรวมในปีนี้เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ
ขณะที่บริษัทยังคงยืนหยัดในธุรกิจเติมเงินและระบบรับชำระเงินอัตโนมัติอย่างแข็งแกร่ง ด้วยบริการครอบคลุมเข้าสู่ชุนชน 120,391 จุดทั่วประเทศ พร้อมบริการทางการเงินครบวงจรทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ลูกค้าเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิม และเพิ่มลูกค้าใหม่ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการขายที่น่าสนใจ และบริการใหม่ที่อัพเดตอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
ส่วนกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง “ตู้เต่าบิน” ปัจจุบันมีตู้ให้บริการ 6,983 จุดทั่วประเทศ โดยมีแผนขยายการติดตั้งตู้ที่อัพเกรดประสิทธิภาพการให้บริการ ลดระยะเวลาเข้าเติมวัตถุดิบและให้บริการเครื่องดื่มได้มากขึ้น พร้อมรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ และจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายดึงดูดลูกค้าใหม่มาใช้บริการมากขึ้น ซึ่ง FSMART ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน (Equity Income Method) จากการถือหุ้น 26.71% ในบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด เจ้าของ “เต่าบิน” เช่นเดิม พร้อมกันนี้ ยังเดินหน้าขยายการติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA Change Point เพิ่มเติมมากกว่า 210 จุดทั่วประเทศในขณะนี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคแล้ว อีกทั้ง ยังร่วมสร้างและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนต่อไป
“บุญเติมเดินหน้ามุ่งมั่นสู่ “นวัตกรรมที่ยั่งยืน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” โดยส่งมอบบริการผ่านตู้บุญเติมเสมือนเป็นธนาคารชุมชนที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ทั้งเติมเงิน ฝากเงินหรือโอนเงิน และการชำระเงินต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าปรับ อีกทั้งเสริมบริการทางการเงินด้วยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบและข้อจำกัดในการเข้าถึงการกู้ยืมเงินผ่านธนาคาร ที่วางแผนว่าจะการขยายฐานไปในองค์กรอื่น ๆ ในอนาคต เช่นเดียวกับธุรกิจ Vending อย่างเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA EV ที่จะขยายจุดติดตั้งเพิ่มขึ้น พร้อมติดตามแผนการขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด เพื่อนำส่งบริการที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดี เช่นเดียวกับตู้เต่าบิน ที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และเพิ่มจุดติดตั้งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ควบคู่ไปกับแคมเปญส่งเสริมการขายที่ต่อเนื่องเช่นกัน โดยแผนการดำเนินงานที่กล่าวมาทั้งหมดบริษัทคาดว่าจะสร้างการเติบโตโดยรวมปีนี้ไม่น้อยกว่า 10% โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากสินเชื่อที่จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ”นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว