TK ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 รายได้รวม 288.4 ล้านบาท มูลค่าพอร์ตลูกหนี้ เช่าซื้อ – กู้ยืม 2,210 ล้านบาท

TK ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 รายได้รวม 288.4 ล้านบาท มูลค่าพอร์ตลูกหนี้ เช่าซื้อ – กู้ยืม 2,210 ล้านบาท

บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 TK มีรายได้รวม 288.4 ล้านบาท ลดลง 30.9% จาก 417.6 ล้านบาท รายได้เช่าซื้อ 159.0 ล้านบาท ลดลง 48.0จาก 306.ล้านบาท มีผลขาดทุน 5.4 ล้านบาท ลดลง 118.1% จากที่มีกำไร 29.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้รวม เดือนอยู่ที่ 983.2 ล้านบาท ลดลง 21.6% จาก 1,254.5 ล้านบาท ลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 2,210 ล้านบาท ลดลง 39.6% จาก 3,658.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น 2.7% ในปี 2567 ขณะ TK มองปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ ยังคงส่งผลในต้องเดินกลยุทธ์ธุรกิจด้วยความระมัดระวัง แม้อัตราดอกเบี้ยจะลดลง แต่ไม่กลับสู่ระดับต่ำเช่นในอดีต คาดการเข้ากำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อจาก ธปท. จะชัดเจนน ปี 2568 กำเงินสด 2,948.5 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจด้วยกลยุทธ์เติบโตแบบยั่งยืน

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย TK มีรายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 983.2 ล้านบาท ลดลง 21.6% จาก 1,254.5 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 30 ล้านบาท ลดลง 131.5% จากที่กำไร 95.2 ล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2567 รายได้รวม 288.4 ล้านบาท ลดลง 30.9% จาก 417.6  ล้านบาท มีผลขาดทุนสุทธิ 5.4 ล้านบาท ลดลง 118.1% จากที่มีกำไร 29.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน ผลการดำเนินงานส่วนหนึ่งเกิดจากเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อลดลงอยู่ที่ 23% ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ด้านคุณภาพลูกหนี้ของบริษัทฯ ดี มีลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7.2ซึ่งดีขึ้น เมื่อเทียบกับคุณภาพลูกหนี้สิ้นปี 2566

สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาส 3/2567 เศรษฐกิจไทยมีทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อนตามการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูงขึ้น หลัง พรบ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 2.7% จาก 1.9% ในปี 2566 ยอดส่งออกเดือน มกราคม-กันยายน 2567 ขยายตัว 8.6% สำหรับภาคการท่องเที่ยวในเดือน มกราคม-กันยายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 21.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 36 ล้านคน ส่งผลดีต่อรายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว

ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไตรมาส 3/2567 จำนวน 397,488 คัน ลดลง 13.3% จาก 458,369 คัน ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 9 เดือนแรก ปี 2567 จำนวน 1,301,631 คัน ลดลง 11.0% จาก 1,462,207 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ ไตรมาส 3 ปี 2567 จำนวน 130,632 คัน ลดลง 27.7% จาก 180,739 คัน ยอดจำหน่ายรถยนต์ 9 เดือนแรก ปี 2567 มีจำนวน 438,659 คัน ลดลง 25.2% จาก 586,870 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี TK ได้ดำเนินกลยุทธ์ขยายพอร์ตสินเชื่อด้วยความระมัดระวังและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะที่บริหารต้นทุนต่าง ๆ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญคือยังคงเน้นการมีสถานะเงินสดให้พร้อมขยายธุรกิจได้ทันที โดย ณ ไตรมาส 3/2567 TK มีเงินสดและเงินฝากที่ 2,948.5 ล้านบาท อีกทั้ง D/E ณ ไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 0.10 เท่า ซึ่งลดลงจากสิ้นปี 2566 ที่ 0.15 เท่า

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 2,210 ล้านบาท ลดลง 39.6% จาก 3,658.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.5% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 โดยมาจากกัมพูชา มีลูกหนี้รวม 789.4 ล้านบาท ลดลง 31.5% จาก 1,152.3 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ สปป.ลาว มีลูกหนี้ 126.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.9% จาก 103.3 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

“ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มค่อย ๆ ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น จากปัจจัยบวกต่าง ๆ รวมทั้งเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง ถึงแม้ไม่ลดกลับไปสู่ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเช่นในอดีต ซึ่งจะช่วยให้ความต้องการสินค้าบริโภคอุปโภคทั้งในและต่างประเทศสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน เช่น อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแรงสะท้อนจากการลงทุน แม้ว่ารัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนถึงไตรมาส 3/2567 หดตัวมากถึง 6.8% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เหตุสำคัญจากยอดขายที่ลดลงของกลุ่มยานยนต์ในประเทศ และจากภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศที่จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลงและเปราะบางมากขึ้นในระยะปานกลาง ทั้งจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงปัญหาสงครามที่ยังยืดเยื้อ บริษัทฯ ได้ปรับการดำเนินงานและปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยถือเงินสดเพียงพอและพร้อมขยายธุรกิจด้วยกลยุทธ์เติบโตแบบยั่งยืน” นายประพลกล่าว

นอกจากนี้ การควบคุมเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 ควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ มีกลยุทธ์สร้างการเติบโตโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างรายได้และผลตอบแทนให้สูงขึ้น นอกเหนือจากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์แล้ว บริษัทฯ ยังมีบริการสินเชื่อประเภทอื่น ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รวมถึงบริการรถเช่า (TK ME) ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้รถจักรยานยนต์ แต่ไม่ต้องการครอบครองทรัพย์สิน

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มธุรกิจของบริษัทฯ จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นการกระจายความเสี่ยงพอร์ตสินเชื่อของบริษัทฯ ให้เหมาะสม รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเป็นการต่อยอดและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในอนาคต