LPH สตรอง Q3 กำไรโต 9.80% โกยรายได้ 1,794.86 ลบ. บอร์ดเคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.05 บาท/หุ้น ส่งซิก Q4 โตต่อเนื่อง ผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน-ต่างชาติหนุน

LPH สตรอง Q3 กำไรโต 9.80% โกยรายได้ 1,794.86 ลบ. บอร์ดเคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.05 บาท/หุ้น ส่งซิก Q4 โตต่อเนื่อง ผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน-ต่างชาติหนุน

“บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH” โชว์แกร่ง ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่ง 17.53%  โกยรายได้รวม 662.50 ลบ. โต 12.20% โดยมีรายได้จากการรักษาพยาบาลเติบโตต่อเนื่อง 11.29% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน หนุน 9 เดือน ทำกำไรโต 9.80% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โกยรายได้รวม 1,794.86 ลบ. เติบโตขึ้น 11.72% “ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช” แม่ทัพใหญ่ ส่งซิกแนวโน้ม Q4/67 โตต่อเนื่อง ไฮซีซั่นธุรกิจ คนไข้ทั่วไปเข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) รวมทั้งผู้ป่วยต่างชาติจากตะวันออกกลาง-กัมพูชา หนุนรายได้รวมทั้งปีโต 20-25% ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนความเชื่อมั่นและตอบแทนผู้ถือหุ้น บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสดหุ้นละ 0.05 บาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปัน (Record date) วันที่ 29 พ.ย. 2567  และจ่ายเงินปันผลวันที่ 12 ธ.ค.2567

ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดไตรมาส 3 ปี 2567 มีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ อยู่ที่ 40.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.53% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวมอยู่ที่ 662.50 ล้านบาท เติบโตขึ้น 12.20% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการรักษาพยาบาลที่เติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 557.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.52 ล้านบาท หรือเติบโต 11.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มีรายได้จากการให้บริการของบริษัทย่อย AMARC เพิ่มขึ้น 18.44 ล้านบาท หรือ 22.93% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการบุกตลาดภูมิภาค การขยายขอบข่ายการให้บริการ การเติบโตในทุกกลุ่มบริการและมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงความสามารถในการรับงานโครงการเอกชนและฐานลูกค้าใหม่ที่เติบโตเพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ อยู่ที่ 62.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.80% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,794.86 ล้านบาท เติบโตขึ้น 11.72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการรักษาพยาบาลที่เติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 1,518.86 ล้านบาท เติบโต 10.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการให้บริการของบริษัทย่อย AMARC เพิ่มขึ้น  41.88 ล้านบาท หรือ 19.47%

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสด สำหรับผลประกอบการในงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท โดยวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 28 พ.ย. 2567 กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 29 พ.ย. 2567 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 12 ธ.ค. 2567

สำหรับความคืบหน้าแผนการลงทุนสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งใหม่ 2 แห่งคือ รพ.จักษุอินเตอร์ฯ ลาดพร้าว และรพ.ศัลยกรรมเฉพาะทางรวมผ่าตัดหัวใจครบวงจร  มูลค่าการลงทุนรวม 1,300 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างตึก 500 ล้านบาท และค่าอุปกรณ์การแพทย์ 800 ล้านบาท ได้ออกแบบเป็นอาคารสีเขียว (Green Building) เทรนด์รักษ์โลก คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2568 พร้อมเปิดให้บริการ ต้นปี 2569 ซึ่งจะรองรับคนไข้ไทยพรีเมี่ยมและคนไข้ต่างชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับ LPH

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายการลงทุน โรงพยาบาลตรวจสุขภาพเพิ่มขึ้น จากเดิมเปิด รพ.ตรวจสุขภาพ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มอีก 1 แห่ง ที่โคราช เพื่อขยายฐานลูกค้าโรงงานขนาดกลางและเล็กที่มีจำนวนพนักงานไม่เกิน 500 คน คาดรายได้ในส่วนตรวจสุขภาพนอกสถานที่จะเติบโตกว่า 50%

โดยแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นธุรกิจ ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว จำนวนผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้รายได้ของ LPH เติบโต 20-25% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยภาพรวมปัจจุบันคนไข้ทั่วไปกลับมาเข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งคนไข้ภายนอก (OPD) และคนไข้ใน (IPD) โดยสัดส่วนรายได้มาจากกลุ่มผู้ป่วยจากประกันสังคม (สปส.) ราว 45% เเละกลุ่มผู้ป่วยเงินสดราว 55% ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติทยอยกลับมาใช้บริการมากขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้จากตะวันออกกลาง รวมถึงคนไข้ประเทศกัมพูชา ซึ่งสนใจเข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยประเมินรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติในปี 2567 คาดว่ารายได้จะเติบโตราว 50% จากปีที่ผ่านมา

“จำนวนผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้สัดส่วนผู้ป่วยเงินสดเพิ่มสูงขึ้นด้วย ปัจจุบันโรงพยาบาลมีสัดส่วนคนไข้ต่างประเทศรวมทั้งหมดไม่ถึง 5% โดยตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี (2566-2568) จำนวนผู้ป่วยจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นมาเป็นสัดส่วนที่ 10%” ดร.อังกูร กล่าว